IN THE NEWS: แม่น้ำโขงที่ผันผวน และกลไกรับวิกฤต

[BangkokBizNews, 1 September 2019]

pic1.png


ดร.คาร์ล มิดเดิลตัน นักวิชาการผู้ติดตามภูมิศาสตร์การเมืองของแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนานจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม (Center for Social Development Studies) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์ความแห้งแล้งและความผันผวนของแม่น้ำโขงปีนี้ และข้อกล่าวหาที่พุ่งตรงไปที่บทบาทของเขื่อนของจีน ทำให้รัฐบาลและสาธารณะที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจกับความสำคัญของแม่น้ำโขงในมุมของความร่วมมือและสันติภาพมากเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งริ่เริ่มโดยจีนเองในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ก็ยิ่งขับเน้นบทบาทของจีนในภูมิศาสตร์การเมือง (Geo-politics) ของภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ดร.คาร์ล กล่าว

เป็นความจริงที่ว่าหลากหลายรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นจากญี่ปุ่น เกาหลี หรืออินเดีย ต่างก็พยายามโปรโมทความร่วมมือในระดับภูมิภาค แต่ ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างของสหรัฐฯ (Lower Mekong Initiative) ซึ่งไม่ได้รวมจีนเข้าไว้ด้วยนี่เอง ที่ดูเหมือนจะกลายมาเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกตั้งใจให้มาช่วยคานอำนาจให้สมดุลย์ในภูมิภาคนี้ เมื่อพิจารณาถึงอิทธิพลทางการเมืองของสหรัฐฯ และการเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยกับจีน ดร.คาร์ล กล่าว

ดร.คาร์ล กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงกลไกในภูมิภาคที่มีอยู่อย่าง MRC, การได้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพน้ำจากจีนที่สมบูรณ์มากกว่านี้ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับระดับน้ำของแต่ละเขื่อนตลอดทั้งปี จะช่วยลดปัญหาและการตั้งข้อความสงสัยเกี่ยวกับเขื่อนของจีนลงไปได้มาก

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ดร.คาร์ล กล่าวว่า เขาเห็นพัฒนาการการทำงานของ MRC ในการติดต่อประสานงานกับจีนเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสภาพน้ำได้ครบถ้วนขึ้น ซึ่งงานด้านนี้ควรเป็นสิ่งที่องค์กรดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไปเป็นส่วนหนึ่งของภาระกิจหลัก

ดร. คาร์ล ยังกล่าวอีกว่า มันเป็นเรื่องที่สำคัญที่ประเทศต้นน้ำอย่างจีนและประเทศปลายน้ำของแม่น้ำโขงจะช่วยกันผลักดันกฎระเบียบที่ “ชัดเจนและเป็นธรรม” (Clear and Fair) ในการใช้ประโยชน์ร่วมกันของแม่น้ำโขง-ล้านช้าง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสภาพน้ำ โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง และการดำเนินการของเขื่อนจีน

ในการดำเนินการของเขื่อน สมควรที่จะให้คล้ายสภาพธรรมชาติมากที่สุดเพื่อให้ประเทศท้ายน้ำได้รักษาสมดุลย์ของระบบนิเวศและวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาวงจรธรรมชาติเหล่านั้น ดร. คาร์ล แนะนำ

ที่สำคัญ กฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ควรต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมออกแบบ และเป็นที่ยอมรับของชุมชนในลุ่มน้ำ ถึงจะเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ของลุ่มน้ำได้ ดร. คาร์ล สรุป

Read more at this link here.