ธรรมชาติเชิงวิพากษ์: การให้คุ้มครองผู้สื่อข่าวที่ทำงานเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม: เครือข่ายสภาการสื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถช่วยได้หรือไม่?

เรื่องโดย อะนิซะ วิดิยะซะรี*

[English version available here]

ภาพการตัดไม้ทำลายป่าในเมืองบอร์เนียว (ภายถ่ายโดย INDOMET in the Heart of Borneo, WIKIMEDIA COMMONS

ภาพการตัดไม้ทำลายป่าในเมืองบอร์เนียว (ภายถ่ายโดย INDOMET in the Heart of Borneo, WIKIMEDIA COMMONS

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้การทำงานของนักสื่อสารมวลชนอาจจะกลับกลายเป็นอันตรายต่อผู้สื่อข่าวด้านสิ่งแวดล้อมผู้ซึ่งเผชิญกับภัยคุกคาม การถูกทำร้ายร่างกายและบางครั้งอาจถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องด้วยสาเหตุจากการทำงานของพวกเขาเหล่านั้น สิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งเนื่องจากผู้สื่อข่าวที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นแนวหน้าในการทำภาระกิจของเราที่ทำงานเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมเพราะพวกเขานั้นมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการจัดอันดับ[i] ให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรมากที่สุดสำหรับนักข่าวและผู้สื่อข่าวด้านสิ่งแวดล้อมตกเป็นเป้าหมายสำคัญในการถูกคุกคามและในบางกรณีอาจถูกสังหารด้วยซ้ำ สำนักข่าวเดอะการ์เดียนระบุว่าการรายงานข่าวด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในสายงานที่อันตรายที่สุดรองจากการทำข่าวสงคราม[ii]. จากรายงานของ Reporters Sans Frontières (RSF) ในปี 2559 พบว่าการสังหารนักข่าวด้านสิ่งแวดล้อมร้อยละ 90 ถูกค้นพบในเอเชียโดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่อันตรายที่สุด[iii].

 หน่วยงานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในการทำหน้าที่คุ้มครองนักข่าวและเสรีภาพสื่อมวลชน คือ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ (National Press Councils) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตนเองที่ตั้งขึ้นโดยสื่อมวลชนเพื่อรักษาความมั่นใจต่อสาธารณชน พวกเขาได้มีการกำหนดมาตราฐานวิชาชีพสำหรับนักข่าวและกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้ผู้ที่ตกอยู่ในข่าวสามารถร้องเรียนได้หากเกิดความไม่ถูกต้องจากการนำเสนอข่าว[iv] ดังนั้น สภาการสื่อมวลชนจึงมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบความรับผิดชอบของสื่อ สภาการสื่อมวลชนยืนหยัดกับการทำข่าวที่ดีมีความรับผิดชอบและเชื่อถือได้เนื่องจากเป็นการส่งเสริมจรรยาบรรณสำหรับนักข่าวและตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดจรรยาบรรณนี้[v] เพื่อปฏิบัติตามกฎของสภาการสื่อมวลชน นักข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อจึงประกาศการอุทิศตนเพื่อคุณค่าของความเที่ยงธรรมเพื่อคนส่วนใหญ่และประชาธิปไตย

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาการสื่อมวลชนมีปรากฏอยู่เพียง 5 ใน 11 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เมียนมา และติมอร์ - เลสเต ในปี 2562 สภาการสื่อมวลชนจำนวน 4 แห่ง ได้จัดตั้งเครือข่ายสภาการสื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPC-Net) โดยอ้างถึงความจำเป็นในการร่วมมือในระดับภูมิภาค แนวคิดของความร่วมมือระดับภูมิภาคนี้ถูกมองว่าเป็นประโยชน์ในการพยายามที่จะพัฒนาเสรีภาพสื่อมวลชนในภูมิภาค ความร่วมมือระดับภูมิภาคสามารถจัดการกับความท้าทายและโอกาสของสื่อมวลชนระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งเป็นเวทีสำหรับนักข่าวในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

บทความนี้จะศึกษาถึงสถานะปัจจุบันของการทำข่าวด้านสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทำการสำรวจว่าเครือข่ายสภาการสื่อมวลชนระดับภูมิภาคจะสามารถช่วยคุ้มครองนักข่าวด้านสิ่งแวดล้อมและเป้าหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สถานะของเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เผชิญกับสถานการณ์วิกฤตในเรื่องเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งรวมถึงเสรีภาพสื่อมวลชน (ตามรายงานเสรีภาพสื่อมวลชนหลายฉบับและดัชนีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งรวมถึง Reporters Sans Frontières (RSF) [vii] และ Freedom House[viii] แม้จะมีกฎบัตรอาเซียนและปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอาเซียนซึ่งกำหนดว่าอาเซียนและประเทศสมาชิกจะต้องเคารพ“สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการแสดงออกของทุกคน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงและเพื่อแสวงหา การได้รับและการให้ข้อมูล”[ix] แนวโน้มปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าพื้นที่สำหรับสาธารณะในการแสดงความคิดเห็นกำลังหดหายไปทั่วทั้งภูมิภาค

รูปที่ 1. ผลการดำเนินงานของประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชน จัดทำโดย RSF[x] และ Global Freedom Index ข้อมูลโดย Freedom House[xi], 2020

รูปที่ 1. ผลการดำเนินงานของประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชน จัดทำโดย RSF[x] และ Global Freedom Index ข้อมูลโดย Freedom House[xi], 2020

ตามดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกประจำปี 2563 จาก RSF ระบุว่าติมอร์ – เลสเต เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ติด 100 อันดับแรก ส่วนประเทศที่เหลือยกเว้นมาเลเซียและอินโดนีเซียอยู่ในสามอันดับสุดท้ายของรายชื่อทั้งหมด เวียดนามเป็นประเทศที่มีผลการดำเนินงานแย่ที่สุดในแง่ของเสรีภาพสื่อมวลชนในภูมิภาค ในขณะเดียวกันรายงานปี 2563 จาก Freedom House แสดงให้เห็นว่านอกเหนือจากประเทศติมอร์ – เลสเต ก็ไม่มีประเทศใดในภูมิภาคนี้ที่สามารถจัดประเภทเป็น "การเป็นอิสระ" ในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย "การมีเสรีภาพในบางส่วน" ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ "การไม่เป็นอิสระ" ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้มีความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับสถานการณ์ร้ายแรงที่นักข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญ

ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงประวัติที่ย่ำแย่ของรัฐบาลในภูมิภาคนี้ในการรักษาเสรีภาพสื่อมวลชน แม้ว่าสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนจะได้รับการยอมรับในตราสารด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มาตรา 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงและในการแสวงหา การรับและส่งต่อข้อมูลและความคิดผ่านสื่อใดๆ และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน”

 นอกจากนี้ประเทศต่างๆในภูมิภาค ยกเว้น บรูไน มาเลเซีย เมียนมา และสิงคโปร์ ยังได้เป็นภาคีลงนามในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) โดยกติการะหว่างประเทศนี้ยังรับรองเสรีภาพของสื่อมวลชนดั่งที่ปรากฏในมาตรา 19 ซึ่งอธิบายว่า “ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธินี้จะรวมถึงเสรีภาพในการแสวงหา การรับและให้ข้อมูล และความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นทางคำพูด เป็นลายลักษณ์อักษรหรือการจัดพิมพ์ในรูปแบบของงานศิลปะหรือผ่านทางสื่ออื่นๆ ที่เขาได้เลือกกระทำ"

ปัจจุบันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่มีสภาการสื่อมวลชน ได้แก่ อินโดนีเซียฟิลิปปินส์ ไทย เมียนมา และติมอร์ - เลสเต การปรากฏตัวของหน่วยงานกำกับดูแลตนเองเหล่านี้ในประเทศขนาดเล็กในภูมิภาคเป็นการแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของมาตราการของรัฐที่ตั้งอยู่โดยรอบในภูมิภาคแห่งนี้ แทนที่จะเป็นการมาตราการดูแลตนเองของสื่อในการจัดการกับปัญหาทางด้านจริยธรรมและเสรีภาพของสื่อ การมีอำนาจของรัฐที่ควบคุมหรือเป็นเจ้าของสื่อได้ขัดขวางการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบแนวทางการปฏิบัติด้านจริยธรรมของสื่อรวมทั้งการส่งเสริมเสรีภาพทางด้านการทำงานของสื่อมวลชน

 การคุกคามนักข่าวทางด้านสิ่งแวดล้อม

การคุกคามนักข่าวทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นเรื่องปกติอย่างมากในภูมิภาคนี้ เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้บางครั้งได้ส่งผลถึงชีวิตของผู้สื่อข่าว ความเสี่ยงสูงของผู้สื่อข่าวด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญนั้นมีความใกล้เคียงกับภัยคุกคามร้ายแรงที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมต้องเผชิญ ยกตัวอย่างเช่น นักเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลกจำนวน 164 คน ถูกสังหารในปี 2018 โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์พบว่าเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม เพียงแค่ในปีดังกล่าวพบว่ามีนักอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อมจำนวนทั้งสิ้น 30 คนที่ถูกฆาตกรรม[xii]

 หนึ่งในกรณีที่น่าอับอายที่สุดของการสังหารนักข่าวด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศฟิลิปปินส์เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2560 เมื่อนาย มาริโอ คอนทาโออิ (Mario Contaoi) นักวิชาการศึกษาและอดีตผู้ประกาศข่าวด้านการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต บ่อยครั้งที่ นายคอนทาโออิ มักจะพูดจาอย่างโผงผางในการต่อต้านทหารอย่างหนักหน่วงในสถานที่ที่มีโครงการที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งอยู่[xiii] จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถระบุตัวผู้ทำร้ายและแรงจูงใจในการฆาตกรรมครั้งนี้ได้[xiv]

ในประเทศกัมพูชา นาย เฮ็ง เสเรีย โอโดม (Hang Serei Odom) ผู้สื่อข่าวของ Virakchun Khmer Daily ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ภาษาเขมร ถูกพบว่าเสียชีวิตในท้ายรถของตนเองที่สวนมะม่วงหิมพานต์ ในอำเภอโอจุม (O'Chum) ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดรัตนคีรี (Ratanakiri) ในเดือนกันยายน 2555 นาย เฮ็ง เสเรีย โอโดม ได้มีการรายงานบ่อยครั้งเกี่ยวกับการแอบลักลอบตัดต้นไม้ในจังหวัดดังกล่าว[xv] ร้อยเอกสารวัตรทหารในพื้นที่และภรรยาของเขาถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมในเบื้องต้นแต่หลังจากนั้นข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป[xvi]

ประเทศเมียนมา ยังคงเป็นสถานที่ที่อันตรายในการรายงานข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม นาย ซอว์มอ ตุน (Soe Moe Tun) ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นของหนังสือพิมพ์ Daily Eleven ถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตเมื่อเดือนธันวาคม 2559 เหตุการณ์นี้ไม่พบผู้กระทำความผิดและแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมแต่ในขณะก่อนที่เขาจะเสียชีวิตนั้นเขากำลังสืบสวนเรื่องราวของการลักลอบตัดไม้และการลักลอบขนไม้ในเขตซะไกง์ (Sagaing Region) [xviii] (ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเมียนมา) เพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุ ในเดือนตุลาคม นาย คอติน ซอว์โอ (Ko Tim Zaw Oo) นักข่าวอีกคนหนึ่งที่รายงานและเขียนบทความเกี่ยวกับโรงเลื่อยไม้ผิดกฎหมายที่ตั้งอยู่ในเมืองตะเบจิ้น (Thabeikkyin Township) ได้รับการข่มขู่และถูกคุกคามจนต้องหลบหนีซ่อนตัว[xix]

ในอินโดนีเซีย มาราเด็น เซียนิปาร์ และ มาตัวร์ ซิเรก้า (Maraden Sianipar and Martua Siregar) สองนักข่าวที่ได้รายงานการปลูกปาล์มน้ำมันผิดกฎหมายทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราถูกพบเป็นศพลอยอยู่ในคูน้ำใกล้สวนปาล์มเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการตายของ กอร์ฟิด ซิเรก้า (Golfrid Siregar) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักจากทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา[xx] ได้มีการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 5 คน รวมถึงเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันบนเกาะสุมาตราที่เป็นสถานที่พบศพของนักข่าวทั้งสองราย โดยพวกเขาเหล่านั้นได้ถูกตั้งข้อฆาตกรรมโดยเจตนา[xxi]

การรายงานข่าวด้านสิ่งแวดล้อมไม่เพียงแต่มีความเสี่ยงสำหรับนักข่าวเท่านั้นแต่ยังเป็นอันตรายต่อชุมชนในพื้นที่เนื่องจากการทำข่าวด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่จะครอบคลุมถึงกรณีที่ชุมชนได้รับผลกระทบอีกด้วย หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสยดสยองที่สุดคือการเสียชีวิตของ ชุต วุตตี้ (Chut Wutty) ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในกรุงพนมเปญซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารขณะพานักข่าวสองคนไปใกล้สถานที่ลักลอบตัดไม้อย่างผิดกฎหมายในเดือนเมษายน 2555[xxii]

อันตรายของการรายงานข่าวด้านสิ่งแวดล้อมยังหมายรวมถึงความเสี่ยงทางกฎหมายอีกด้วย การล่วงละเมิดทางกฎหมายเป็นรูปแบบหนึ่งของการคุกคามนักข่าวด้านสิ่งแวดล้อมที่พบบ่อยที่สุด รัฐบาลในภูมิภาคนี้มีความเชี่ยวชาญในการผ่านและบังคับใช้กฎหมายในเพื่อปราบปรามและปิดปากผู้ไม่เห็นด้วย เมื่อไม่นานมานี้การเติบโตของแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของกฎหมายที่มุ่งเป้าไปที่การควบคุมการสื่อสารมวลชนบนเว็บไซต์และการรายงานทางออนไลน์

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ทุ่งคำ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ได้ยื่นคำฟ้องต่อนักข่าวหลายคนจากสำนักข่าวไทยพีบีเอส (Thai PBS) ซึ่งเป็นช่องโทรทัศน์สาธารณะในประเทศเกี่ยวกับคลิปนักข่าวพลเมืองที่เผยแพร่ค่ายเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย[xxiii] ทางบริษัทได้ยื่นเรื่องร้องเรียนโดยอ้างถึงประมวลกฎหมายอาญาแห่งประเทศไทย มาตรา 326 ในข้อหาหมิ่นประมาทในพื้นที่สาธารณะ[xxiv] จากข้อมูลของ Fortify Rights ในช่วงปี 2553 – 2561 หจก.ทุ่งคำ ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาและทางแพ่งอีกอย่างน้อย 19 คดีกับชาวจังหวัดเลย 33 คน รวมถึงสมาชิกกลุ่มรักบ้านเกิด (Khon Rak Ban Kerd Group: KRBKG) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการรวมกลุ่มประท้วงต่อต้านการทำเหมืองแร่ทองคำในท้องถิ่น[xxv]

การคุกคามทางกฎหมายนี้ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่นักข่าวภายในประเทศเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงนักข่าวต่างประเทศอีกด้วย ในกรณีของประเทศอิโดนีเซียที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ฟิลิปส์ จาค็อบสัน (Philip Jacobson) บรรณาธิการแพลตฟอร์มการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 จากนั้นต่อมาถูกจับกุมอีกครั้งในวันที่ 21 มกราคม 2563 โดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของอินโดนีเซียกล่าวหาว่าเขาละเมิดเงื่อนไขวีซ่าของตนเอง[xxvi]  จาค็อบสัน เคยเขียนบทความให้กับ Mongabay เกี่ยวกับการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของอินโดนีเซียในเกาะบอร์เนียวและมักวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีชาวอินโดนีเซีย Joko Widodo เกี่ยวกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของเขาในอดีต[xxvii]

สภาการสื่อมวลชนจะทำงานเพื่อสนับสนุนหรือปกป้องนักข่าวต่างๆ ในกรณีดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เนื่องจากในประเทศที่มีสภาผู้สื่อข่าวบทบาทของพวกเขาในกรณีการละเมิดเหล่านี้แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยทั่วไปแล้วอำนาจของสภาการสื่อมวลชนเกี่ยวข้องกับจริยธรรมและจรรยาบรรณของตนเอง ดังนั้นพวกเขาจึงไม่สามารถแทรกแซงการดำเนินคดีทางกฎหมายได้เมื่อมีการฟ้องร้องผู้สื่อข่าวในศาลเกิดขึ้น บทบาทของสภาการสื่อมวลชนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะสร้างการรับรู้เกี่ยวกับคดีและกดดันให้รัฐบาลของพวกเขายึดมั่นในหลักการของเสรีภาพสื่อมวลชนซึ่งเป็นบทบาทที่สามารถขยายความข้ามภูมิภาคได้โดยเครือข่ายที่ดำเนินงานอยู่ของสภาการสื่อมวลชนระดับภูมิภาค เครือข่ายสภาการสื่อมวลชนสามารถช่วยในการรวบรวมยุทธศาสตร์การสนับสนุนช่วยเหลือในระดับภูมิภาคในการกดดันรัฐบาลแต่ละประเทศเพื่อรับรองเสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศของตน

วารสารสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบ

เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการพัฒนาหลายๆ โครงการอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในท้องถิ่น นักข่าวมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักแก่สาธารณชนเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาเหล่านี้ นอกเหนือจากองค์กรภาคประชาสังคม (CSO) และองค์กรอื่นๆ แล้ว ผู้สื่อข่าวยังมีส่วนช่วยในเรื่องความโปร่งใสและความรับผิดชอบในโครงการของภาครัฐที่ดำเนินการโดยรัฐบาลและการลงทุนของภาคเอกชน เสรีภาพสื่อมวลชนจึงเป็นเสาหลักสำคัญในการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคนี้

ในเดือนธันวาคม 2561 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคมหรือในชื่อภาษาอังกฤษที่ว่า “Center for Social Development Studies (CSDS)” ได้จัดการประชุมเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นเวทีสาธารณะภายใต้ชื่อ “การเมืองทรัพยากรและพื้นที่สาธารณะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: การพิจารณาอย่างรอบคอบ การแสดงความรับผิดชอบและทางเลือก”[xxviii] ซึ่งได้กล่าวถึงความท้าทายของการหดตัวลงของพื้นที่สาธารณะในภูมิภาครวมถึงสื่อมวลชนด้วย งานนี้ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของพื้นที่สาธารณะ สื่อมวลชนและโซเชี่ยลมีเดียในการปกป้องชุมชนท้องถิ่นและการดำรงชีวิตของชุมชน ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมในฐานะเสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน จากการอภิปรายในงานดังกล่าวเห็นได้ชัดว่านักข่าวสามารถช่วยส่งเสริมข่าวสารของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้โดยการเขียนเรื่องราวที่น่าสนใจและช่วยให้ความรู้แก่สาธารณชนโดยผ่านกระบวนการนี้

หนึ่งตัวอย่างของบทบาทสื่อมวลชนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การรายข่าวเกี่ยวกับหัวข้อปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมในบริเวณโดยรอบแม่น้ำโขง ซึ่งนักข่าวได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับภัยอันตรายที่ส่งผลต่อระบบนิเวศในลุ่มแม่น้ำโขงและผลกระทบที่เกิดจากโครงการพัฒนาต่างๆ อาทิ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีกระทบต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพของประชาชน[xxix] เครือข่ายนักข่าวแม่น้ำโขง (Mekong Matters Journalism Network) ก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน 2557 ช่วยเชื่อมโยงและฝึกอบรมนักข่าวในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างและพวกเขาได้ผลิตเรื่องราวมากมายที่ครอบคลุมปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ภัยแล้ง โรงไฟฟ้าถ่านหินและไฟฟ้าพลังน้ำ[xxx]

ความคิดริเริ่มเชิงบวกแบบนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากหากได้มีการนำไปกระทำซ้ำที่อื่นในภูมิภาคแห่งนี้และนี่คือสิ่งที่เครือข่าย สภาการสื่อมวลชนระดับภูมิภาคสามารถแสดงบทบาทอันสำคัญในการจัดหาเวทีสำหรับนักข่าวในภูมิภาคได้แลกเปลี่ยนข้อมูลที่ไม่ใช่เพียงแต่จะเกี่ยวข้องกับข่าวสารและเรื่องราวเท่านั้นแต่ยังเกี่ยวข้องกับแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและความคิดริเริ่มที่จะสามารถช่วยเพิ่มบทบาทในการให้ความรู้แก่สาธารณชนได้มากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

การใช้เครือข่ายสื่อมวลชนที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ตัวอย่างหนึ่งของเครือข่ายสภาการสื่อมวลชนระดับภูมิภาคที่มีอยู่ คือ พันธมิตรสภาการสื่อมวลชนอิสระในสหภาพยุโรป (Alliance of Independent Press Councils in Europe: AIPCE) ซึ่งเป็นเครือข่ายแบบหลวมๆ ของสภาการสื่อมวลชนในสหภาพยุโรป (European Press Councils) [xxxi] สำหรับทั้งสื่อโดยทั่วไปและสื่อวิทยุกระจายเสียง เครือข่ายได้จัดให้มีการประชุมเป็นประจำทุกปีซึ่งเป็นเวทีสำหรับสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับจริยธรรมการสื่อสารมวลชนและเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์และข้อมูล เครือข่ายนี้ถูกมองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีประโยชน์ในการเรียนรู้ระหว่างกันและได้หารือเกี่ยวกับความท้าทายที่พบบ่อยครั้ง รวมทั้งการแบ่งปันคำแนะนำเกี่ยวกับการทำให้สภาผู้สื่อข่าวในแต่ละประเทศเป็นอิสระและมีความยั่งยืนทางการเงิน[xxxii]

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เครือข่ายสภาการสื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Councils Network: SEAPC-Net) ก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ.2562 โดยมีสภาการสื่อมวลชนอินโดนีเซีย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งเมียนมา สภาการหนังสือพิมพ์ติมอร์-เลสเต และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติของประเทศไทยในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งโดยผ่านปฏิญญากรุงเทพ[xxxiii] ในคำประกาศดังกล่าวพวกเขาได้เอ่ยถึงความจำเป็นในการร่วมมือระดับภูมิภาคระหว่างสภาการสื่อมวลชนและการยอมรับถึงความท้าทายที่มีความใกล้เคียงกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่ของเสรีภาพสื่อมวลชน หนึ่งในกิจกรรมที่พวกเขาทำร่วมกันในปี 2563 คือการออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม เกี่ยวกับการป้องกัน COVID-19 โดยเครือข่ายได้เตือนสื่อมวลชนให้ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานในจรรยาบรรณของนักข่าวอยู่เสมอ รวมทั้งการปฏิบัติตามพิธีสารด้านสุขภาพและความปลอดภัยเมื่อรายงานกรณีของผู้ติดเชื้อ COVID-19[xxxiv] เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา พวกเขายังจัดประชุมสามัญประจำปีซึ่งกำหนดแผนสำหรับปี 2564 รวมถึงการขยายเครือข่ายและจัดสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเสรีภาพและจริยธรรมของสื่อมวลชนในภูมิภาค[xxxv]

นอกเหนือจากการประสานความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้านสื่อสารมวลชนและจริยธรรมต่างๆในภูมิภาคแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คาดหวังได้จากการทำงานของเครือข่ายสภาการสื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือการทำงานร่วมกันกับผู้สื่อข่าวที่อยู่ในประเทศอื่นๆในภูมิภาคที่ยังคงไม่มีสภาการสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ เครือข่ายสภาการสื่อมวลชนสามารถช่วยประเทศต่างๆเหล่านั้นในการจัดตั้งโดยการสนับสนุนอย่างสำคัญต่อรัฐบาลรวมทั้งแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่พวกเขามีอยู่แล้วในประเทศของตน

ในแง่ของการปกป้องนักข่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานกับหัวข้อเปราะบาง เช่น การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การทำเหมืองแร่และการค้าสัตว์ป่า เครือข่ายสภาการสื่อมวลชนสามารถใช้ความพยายามร่วมกันในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหานี้โดยเน้นว่าแทนที่จะมองว่านักข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นภัยคุกคาม พวกเขาควรถูกมองว่าเป็นพันธมิตรที่มีค่าในการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืนและยังมั่นใจว่ามีความรับผิดชอบที่ดีขึ้นในการจัดโครงการพัฒนาทั้งโดยรัฐและภาคเอกชน ผู้สื่อข่าวจะสามารถได้รับความคุ้มครองที่ดีขึ้นหากรัฐบาลเหล่านั้นให้ความสำคัญกับภัยคุกคามที่ผู้สื่อข่าวต้องเผชิญและต้องรับมือกับการถูกทำร้ายร่างกายเพียงเพื่อทำหน้าที่ของพวกเขาในฐานะผู้สื่อข่าว นอกจากนี้ยังสามารถช่วยได้หากรัฐบาลไม่พยายามใช้กฎหมายที่รุนแรงเพื่อควบคุมผู้สื่อข่าว ดังนั้นรัฐบาลในภูมิภาคควรดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อให้แน่ใจว่ามีการปกป้องนักข่าวสิ่งแวดล้อมและช่วยพวกเขาในการปฏิบัติหน้าที่โดยการให้พื้นที่ทำงานอย่างปลอดภัย

กิตติกรรมประกาศ

ผู้เขียนขอขอบคุณ นายราเจช เดเนียล และ ผช.ดร.คาร์ล มิดเดิลตัน สำหรับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และบทบรรณาธิการของบทความชิ้นนี้

—————

*นักวิจัยภายใต้ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการเมืองทรัพยากรเพื่อการพัฒนาสังคม, ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[i] See also: Hostile Climate For Environmental Journalist (RSF, 2015), 2020 World Press Freedom Index: “Entering A Decisive Decade For Journalism, Exacerbated By Coronavirus” (RSF, 2020), A Leaderless Struggle For Democracy (Freedom House, 2020).

[ii] Juliette Garside and Jonathan Watts, 'Environment Reporters Facing Harassment And Murder, Study Finds' (the Guardian, 2019).

[iii] Reporters Without Borders, 'Hostile Climate For Environmental Journalist' (2015).

[iv] Alliance Of Independent Press Councils Of Europe (AIPCE), ‘About' (Presscouncils.eu, 2015).

[v] 'Role Of A Press Council In Promoting Responsible Journalism' (Unesco.org, 2013).

[vi] Southeast Asian Press Councils Network, 'Bangkok Declaration' (2018).

[vii] '2020 World Press Freedom Index: “Entering A Decisive Decade For Journalism, Exacerbated By Coronavirus”' (RSF, 2020).

[viii] 'A Leaderless Struggle For Democracy' (Freedom House, 2020).

[ix]Charter of the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN Charter)’ (asean.org, 2007).

[x] '2020 World Press Freedom Index | Reporters Without Borders' (RSF, 2020).

[xi] 'Countries And Territories' (Freedom House, 2020).

[xii]Defending The Philippines' (Global Witness, 2019).

[xiii] 'The Murder Of Environmental Protection Advocates Must Outrage Us All' (The Manila Times, 2017).

[xiv] The Aktionsbündnis Menschenrechte – Philippinen, 'Human Rights In The Philippines Under Duterte' (2019).

[xv] 'Cambodian Journalist Found Dead In His Own Car' (Committee to Protect Journalists, 2012).

[xvi]  ‘A Bad Year For Journalism' (The Cambodia Daily, 2018).

[xvii] Kyaw Ko Ko, 'Mandalay Journalist Threatened After Reporting On Illegal Logging' (The Myanmar Times, 2016).

[xviii] Maung Zaw, 'Police Suspect Murder After Eleven Media Reporter Found Dead' (The Myanmar Times, 2016).

[xix] Kyaw Ko Ko, 'Mandalay Journalist Threatened After Reporting On Illegal Logging' (The Myanmar Times, 2016).

[xx] 'Indonesian Journalists Critical Of Illegal Palm Plantation Found Dead' (EcoWatch, 2019).

[xxi] Basten Gokkon, 'Palm Owner Charged With Ordering Murder Of Two Journalists In Indonesia' (Mongabay Environmental News, 2019).

[xxii] 'Cambodian Activist Killed While Helping Journalists' (Committee to Protect Journalists, 2012).

[xxiii] 'Thailand: Dismiss Criminal-Defamation Charges Against Thai PBS And Journalists - Fortify Rights' (Fortify Rights, 2018).

[xxiv] 'Tung Kham Company Sued Youth Journalist And Thai PBS' (Freedom.ilaw.or.th).

[xxv] 'Thailand: Uphold Decision To Dismiss Criminal-Defamation Complaint Against Thai PBS And Journalists - Fortify Rights' (Fortify Rights, 2018).

[xxvi] Richard C. Paddock, 'American Journalist Is Arrested In Indonesia Over Visa Issue' (Nytimes.com, 2020).

[xxvii] Amy Gunia, 'Indonesia Arrests American Journalist Over Alleged Visa Issue' (Time, 2020).

[xxviii] CSDS Communications, 'EVENT [REPORT]: Policy Forum On Resource Politics And The Public Sphere In Southeast Asia: Deliberation, Accountability And Alternatives [Bangkok, 13 December 2018] — Center For Social Development Studies' (CSDS, 2018).

[xxix] 'Mekong Matters Journalism Network' (Earth Journalism Network).

[xxx]Environmental Journalists Net Stories In The Mekong | Internews' (Internews.org, 2017).

[xxxi] Alliance Of Independent Press Councils Of Europe' (Ethical Journalism Network).

[xxxii] 'European Press Councils Reaffirm Central Role Of Self-Regulation In Maintaining The Quality Of Journalism' (UNESCO, 2017).

[xxxiii] Southeast Asian Press Councils Network, 'Bangkok Declaration' (2018).

[xxxiv] 'Joint Statement : SEAPC-Net Solidarity In Combating The Pandemic Coronavirus (COVID-19)' (Presscouncil.or.th, 2020).

[xxxv]ปธ. สภาการสื่อมวลชนฯ ประชุมสามัญประจำปี SEAPC-Net’ (Presscouncil.or.th, 2020).